ศูนย์เครือข่ายพาณิชยนาวี ENMATE @ ม.เกษตรฯ ศรีราชา กับความพร้อมในฐานะ ศูนย์ฝึกอบรมและแล็บพาณิชนาวี ที่ครบครันที่สุดในประเทศ

เมื่อพูดถึง อุตสาหกรรมพาณิชยนาวี ย่อมหมายความครอบคลุมถึง การขนส่ง ท่าเรือ ไปจนถึงอุตสาหกรรมทางทะเล พลังงาน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และด้วยการกินความหมายครอบคลุมไปหลายอุตสาหกรรมนี่เอง ที่ทำให้ภารกิจการผลิตบุคลากรตอบสนอง อุตสาหกรรมพาณิชยนาวี จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หนึ่งของประเทศ ที่มีอัตราการเติบโตด้านนี้ค่อนข้างสูง ศูนย์เครือข่ายพาณิชยนาวี ENMATE จึงเกิดขึ้น และเป็น 1 ใน 10 ศูนย์เครือข่ายพัฒนาบุคลากร’ หรือ ศูนย์ EEC NETs ที่อยู่ภายใต้การดูแลและขับเคลื่อนของ คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

โดยในการประชุมสัมมนาศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC NETs) เพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และอัปเดตความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรของศูนย์เครือข่าย EEC NETs รวมถึงปัญหา-อุปสรรคในการดำเนินงาน ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน และแผนงานที่จะดำเนินการในปี 2566 ได้มีการอัปเดตความคืบหน้าของการดำเนิน ศูนย์เครือข่ายพาณิชยนาวี ENMATE แห่งนี้ด้วย

ENMATE

ทั้งนี้การดำเนินงานของศูนย์ได้เริ่มอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การ จัดซื้อครุภัณฑ์ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางด้านพาณิชยนาวี แล้วจึงจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชยนาวี : Maritime Training Center เพื่อผลิตบุคลากร และให้บริการวิชาการที่สนับสนุนด้านพาณิชยนาวี เพื่อรองรับการพัฒนาใน EEC อย่างยั่งยืน

ในตอนนี้ที่ ศูนย์เครือข่ายพาณิชยนาวี ENMATE ณ คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้ติดตั้งชุดเครื่องมือจำลองที่ใช้ในการเรียนการสอนด้านพาณิชยนาวีอย่างสมบูรณ์แล้ว และได้ชื่อว่าเป็นแล็บ “พาณิชยนาวี” แห่งเดียวในประเทศที่สามารถใช้ในการเรียนการสอน การอบรม เพื่อ Upskill-Reskill บุคลากรด้านนี้ได้อย่างครบวงจร

ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบเรือ การวิจัยด้านพลังงาน การออกแบบแท่นขุดเจาะ ไปจนถึงงานด้านชายฝั่ง  

รศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น

รศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

 

โดยในโอกาสนี้ รศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้อัปเดตถึงความก้าวหน้าของ ศูนย์เครือข่ายพาณิชยนาวี ENMATE ว่าในตอนนี้ที่นี่มีความพร้อม ในฐานะแล็บ “พาณิชยนาวี” มีความครบครันมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ เพราะประกอบด้วย

ลากเรือจําลอง

ชุดปฏิบัติการทดสอบถังลากเรือจําลอง ที่มีความพร้อมในการใช้อบรมการออกแบบและทดสอบความต้านทานเรือ ฝึกอบรมการออกแบบและทดสอบความคงทนทะเล ฝึกอบรมการออกแบบและทดสอบระบบขับเคลื่อนเรือแบบเฉพาะสวนใบจักร (Open water test) ฝึกอบรมการออกแบบและทดสอบระบบขับเคลื่อนเรือแบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Self-propulsion test) ฝึกอบรมการออกแบบและทดสอบอุปกรณ์ประมง ฝึกอบรมการออกแบบและทดสอบอุปกรณ์พลังงานทดแทน

ทดสอบแอ่งคลื่น

ชุดปฏิบัติการทดสอบแอ่งคลื่น ใช้เรียนรู้เรื่องการทดสอบการทรงตัวและเสถียรภาพของเรือ การออกแบบเขื่อนกันคลื่น เสาเข็มสลายคลื่น เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการที่เกี่ยวข้องกับทะเล เช่น การรั่วไหลของน้ำมัน การฟุ้งกระจายของตะกอน หรือสสาร ความคงทนทะเล การกัดกร่อน การสลายพลังงานคลื่นของปะการังเทียม ส่วนในการบริการวิชาการ สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพเครื่องกําเนิดพลังงานไฟฟ้าจากคลื่น และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการที่เกี่ยวข้องกับทะเล เช่นการรั่วไหลของน้ำมัน การฟุ้งกระจายของตะกอน หรือสสาร

ทดสอบอุโมงค์น้ำ

ชุดปฏิบัติการทดสอบอุโมงค์น้ำ ใช้ในการอบรมหลักสูตรสําหรับบุคคลภายนอก (ภาคอุตสาหกรรม) การออกแบบและทดสอบใบจักรเรือขั้นพื้นฐาน การออกแบบและทดสอบใบจักรเรือขั้นสูง และยังใช้ในการบริการวิชาการเพื่อทดสอบประสิทธิภาพใบจักร

ชุดจําลองสะพานเดินเรือสําหรับการฝึกเดินเรือ (Bridge Simulator) และ ชุดจําลองห้องเครื่องยนต์เรือสําหรับการฝึกควบคุมเครื่องยนต์เรือ (Engine Room Simulator) ใช้ในการอบรมบุคลากรที่จะไปเป็นกัปตันเรือ วิศวกรประจำเรือ หรือนายประจำเรือ ในสถานที่เสมือนจริงของการขับเรือ และผู้อบรมจะได้ใช้งานแผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์ การทํางานเป็นทีมบนสะพานเดินเรือสําหรับการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไปจนถึงหลักสูตรการใช้อุปกรณ์แสดงตําบนที่เรือด้วยตนเอง

และที่ผ่านมา เมื่อได้สร้างและติดตั้งเครื่องมือและชุดจำลองในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในหลักสูตรอบรมในด้านพาณิชยนาวีแล้ว ในช่วงต้นปี 2563 ทางคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ก็เริ่มอบรมหลักสูตรต่างๆ ได้แก่

หลักสูตรการพัฒนาระบบควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้าสําหรับเรือไฟฟ้า เพื่อเพิ่มองค์ความรู้พื้นฐานด้านการควบคุมระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าและใช้ทักษะที่ได้จากการอบรมมาใช้ออกแบบระบบด้วยเทคโนโลยีต่อเรือ ซึ่งเป็นการตอบสนองการ Upskill ทักษะใหม่ที่มาแรงในยุคนี้เกี่ยวกับ EV หรือยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ด้วย

หลักสูตร Advanced Solid Work for Finite Element and CFD เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นการนำวิศวกรของ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย มาอบรมสร้างเสริมทักษะการเขียนแบบด้วยโปรแกรม 3D และโปรแกรมการคํานวณทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้เห็นรูปแบบรูปร่างในทุกมุมมอง อีกทั้งยังช่วยลดเวลาในการทํางานลง Solidwork จึงเป็นโปรแกรมหนึ่งที่นิยมในการเขียนแบบ และมีฟังก์ชั่นการใช้งานในการคํานวณทางวิศวกรรม หากสามารถเรียนรู้จะเป็นพื้นฐานในการนําไปประยุกต์ใช้งานได้

โดยสรุปแล้วหลักสูตรนี้เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรม Solidwork ในการเขียนแบบ 3D และ 2D เพื่อใช้ในการออกแบบ Turbine โดยเน้นหลักการในการขึ้นรูป Runner และนําแบบ 3D ที่ออกแบบไปใช้งานต่อในโปรแกรม Simulate Flow เพื่อไปคํานวณหาผลลัพธ์ที่จะบอกพฤติกรรมการไหล ความดัน และแรงกระทําของน้ำผ่าน Turbin ซึ่งเมื่อหลักสูตรนี้จบลง วิศวกรของทางการไฟฟ้าฯ ก็จะมีทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดทําแบบจําลองคณิตศาสตร์คลื่นและชายฝั่ง เป็นการอบรมด้วยโปรแกรมวิศวกรรมต่อเรือและเครื่องกลเรือเพื่อเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 2 รุ่น โดยมีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่อเรือ มาร่วมในการช่วยวางหลักสูตรและเป็นที่ปรึกษาในการอบรมครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ องค์กรที่ต้องควบคุมมาตรฐานวิชาชีพของคนทำงานบนเรือ ก็จะต้องมีทักษะความสามารถด้วย ในส่วนของทางคณะก็มีการจัดอบรมบุคลากรในองค์กรเหล่านี้ ยกตัวอย่าง ในกรมเจ้าท่า ทางคณะฯก็มีส่วนไปฝึกอบรมทักษะพื้นฐานที่จำเป็นของบุคลากรเหล่านี้ด้วย

โดยตัวเลขทางสถิติล่าสุด ระหว่างปี 2563-2565 ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมให้กับบุคคลภายนอก จำนวนทั้งหมด 58 คน ส่วนผู้ เข้าร่วมฝึกอบรมที่เป็นนิสิตคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ จำนวนกว่า 1,425 คน

ส่วนแผนการจัดฝึกอบรม พัฒนาวิชาการและพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชยนาวี ปี 2566 ทางศูนย์ ENMATE มองว่า ด้วยความพร้อมที่กล่าวมานี้ ทางศูนย์ฯจะขยายกลุ่มเป้าหมายในการฝึกอบรมมากขึ้น และนำเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนา วิจัย ต่อยอด ได้ โดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กองทัพเรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต มาร่วมออกแบบ Solar Floating ปตท. มาร่วมออกแบบอุปกรณ์พลังงานคลื่น SCG มาร่วมออกแบบทุ่น และ บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) มาร่วมออกแบบเรือประมง

นอกจากนั้น ยังจะเดินหน้าจัด หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านพาณิชยนาวี และ Reskill-Upskill เช่น

  • หลักสูตรการออกแบบทางวิศวกรรมด้วยการจําลองทางพลศาสตร์ของไหล (CFD)

  • หลักสูตร Hydrodynamics in Ship Design Training course

  • หลักสูตรการประยุกต์ใช้โปรแกรมทางด้านวิศวกรรมต่อเรือและเครื่องกลเรือเพื่อเพิ่มทักษะแก่บุคลากรในอุตสาหกรรมต่อเรือและโครงสร้างทางทะเล

  • หลักสูตรการออกแบบเรือด้วยถังลากเรือจําลอง

  • หลักสูตรการจัดทําแบบจําลองคณิตศาสตร์คลื่นและชายฝั่ง และการทดสอบด้วยแอ่งคลื่น

  • หลักสูตรการออกแบบเขื่อนกันคลื่นแบบลอยน้ำ

  • หลักสูตรด้านการพัฒนาศักยภาพคนประจําเรือ

  • หลักสูตรพื้นฐานพลประจําเรือ หรือหลักสูตรฝึกอบรมพลประจําเรือระดับ Advance (ขั้นสูง)

ต่อมา ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ยังได้แสดงความคิดเห็น ภายหลังการรับผังความคืบหน้าในการดำเนินงานของ ศูนย์เครือข่ายพาณิชยนาวี ENMATE ว่า

“การพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีนับว่ามีความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ทาง EEC พยายามที่จะลงทุนเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้มีการลงทุนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ทาง EEC จะประสานกับทางเมืองพัทยา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักในพื้นที่ EEC เพื่อทำมาตรฐานในการเดินเรือท่องเที่ยวในชายฝั่ง ตลอดจนฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ด้วย”

ที่มา : https://www.salika.co/2022/09/16/enmate-maritime-center-ku-sriracha/